18 มิ.ย. 2558

การวางแผนการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ

การวางแผนการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ

        เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว ทุกคนมีปัญหาที่จะต้องคิดเหมือนกันว่า จะเรียนต่อหรือไม่ ถ้าเรียนจะเรียนอะไร และถ้าไม่เรียนจะทำอะไรใช่ไหมคะ ทุกคนมีคำตอบแล้วหรือยัง ถ้ายังเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด ควรเริ่มคิดตั้งแต่บัดนี้ นั่นคือการวางแผนชีวิตในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ ในกรณีของผู้ประสงค์จะศึกษาต่อ จะมีหลักเกณฑ์ในการคิดตัดสินใจศึกษาต่ออย่างไรบ้าง จึงจะเหมาะสมกับตนเอง เมื่อจบแล้วจะได้ประกอบอาชีพตามที่ต้องการ และตรงกับความสนใจและความถนัด ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วก็เชื่อว่าเราต้องประสบความสำเร็จในชีวิตการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพแน่นอนคะ เพราะว่าจะสามารถทำให้เราตัดสินใจหรือวางแผนแนวทางในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับอัตภาพของตนเอง เหมือนกลอนที่ครูเอามาฝากดังนี้คะ

“การเลือกทางศึกษาต่อขอให้คิด อย่าหลงผิดตามเพื่อนหนอเป็นข้อใหญ่

ควรคำนึงถึงปัญญาทุกท่านไป ว่าทางไหนเราถนัดจัดว่าดี
อีกทั้งความสนใจและความชอบ จะประกอบให้เราเด่นเป็นศักดิ์ศรี
ทั้งเรื่องทุนการศึกษาปัญหามี ทั้งหมดนี้ควรวิเคราะห์ให้เหมาะเอย”



แนวทางการวางแผนศึกษาต่อและประกอบอาชีพ
1. ต้องรู้จักตนเอง จะต้องรู้พิจารณาตนเองในเรื่องเหล่านี้คะ

* ความชอบหรือความสนใจ ในการเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง เราควรนำเอาผลการสำรวจในด้านต่าง ๆ มาประมวลเพื่อประกอบการพิจารณา เช่น มีบุคลิกภาพแบบใด ความสามารถด้านใด ชอบทำกิจกรรมอะไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราพิจารณาตนเองได้ว่าเราควรประกอบอาชีพอะไร ซึ่งหากเลือกอาชีพใดได้ตรงกับคุณสมบัติของตัวเองแล้วจะทำให้ประกอบอาชีพนั้นอย่างมีความสุข มีผลงานที่มีประสิทธิภาพน่าพอใจ คนแต่ละคนมีความชอบและความสนใจที่แตกต่างกัน ความสนใจนี้จะสังเกตได้จากการที่นักเรียนชอบทำกิจกรรมใดอยู่เสมอ ๆ หรือบ่อย ๆ กว่ากิจกรรมอื่น

* ความถนัด การที่บุคคลจะวางแผนในอนาคตได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับตัวเองได้นั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญคือบุคคลต้องรู้จักความถนัดของตนเอง ทุกคนมีความถนัดในแต่ละด้านแตกต่างกันไป เมื่อเราทำสิ่งใดได้ดีก็จะทำให้เรามีความสุข และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองคะ การรู้จักจุดด้อยของตัวเองจะช่วยให้เราพัฒนาได้ถูกต้อง และเรียนรู้ที่จะปรับปรุงด้านที่ไม่ถนัด ความถนัดและความสนใจมักเป็นสิ่งที่คู่กันไป ความถนัดนี้อาจสังเกตได้จากการที่บุคคลทำกิจกรรมใดหรือสิ่งใดแล้ว ทำได้ดี คล่องแคล่ว ทำแล้วประสบความสำเร็จ 

* สติปัญญาและความสามารถ การที่จะดูว่าสติปัญญาหรือความสามารถดีไม่ดี อาจดูได้จากระดับคะแนนหรือผลการเรียนที่ผ่านมาในสมุดรายงานประจำตัวนักเรียนดูว่าในแต่ละวิชาที่สอบไปแล้วได้ระดับคะแนนหรือผลการเรียนเป็นอย่างไร ถ้าได้ระดับการเรียนหรือผลการเรียนในวิชานั้นสูง ก็แสดงว่าระดับสติปัญญาหรือความสามารถในการเรียนวิชานั้นสูง แต่ถ้าระดับคะแนนหรือผลการเรียนในวิชานั้นต่ำ ก็แสดงว่าสติปัญญาหรือความสามารถในการเรียนวิชานั้นต่ำ
ส่วนหนึ่งที่เราควรรู้คือ รู้ว่าตนเองมีความสามารถด้านใดบ้าง เพราะสิ่งนี้จะช่วยทำให้เรา เลือกแนวทางเหมาะสมกับตนเองมากที่สุดคะ เราควรคำนึงว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งในด้านที่เหมือนกับคนอื่น เพียงแต่มีความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว แต่เชี่ยวชาญในทักษะด้านนั้น ๆ มากก็เพียงพอแล้ว ดังคำกล่าวที่ว่า “อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” 


*ค่านิยม การที่บุคคลจะวางแผนอนาคตได้อย่างถูกต้องกับเหมาะสมกับตนเองได้นั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญมากก็คือ ต้องรู้ค่านิยมในงานที่ตนยึดไว้เป็นหลักสำคัญ ค่านิยมในตนเองมีผลต่อการเลือกแนวทางต่าง ๆ ในชีวิตของเราเสมอ การสำรวจค่านิยมในงาน จะช่วยชี้นำไปสู่อาชีพที่ตรงกับความต้องการของเรา มีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูง แต่ทั้งนี้เราควรนำคุณสมบัติในด้านอื่น ๆ มาประกอบกับค่านิยมของตนเองด้วย เพื่อช่วยให้การพิจารณาอาชีพที่เราควรเลือกทำเมื่อจะไปประกอบอาชีพในอนาคตอีกด้วยคะ

* บุคลิกภาพ คือ ลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลในด้านต่าง ๆ ทั้งส่วนภายนอกและภายใน ส่วนภายนอกคือส่วนที่มองเห็นชัด เช่น รูปร่าง หน้าตา กิริยามารยาท การแต่งกาย ส่วนภายใน คือส่วนที่มองเห็นยาก แต่อาจทราบได้โดยการอนุมาน สติปัญญา ลักษณะอารมณ์ประจำตัว ฯลฯ ลักษณะต่าง ๆ ของบุคลิกไม่สามารถแยกเป็นส่วน ๆ ออกจากกันได้ มีผลต่อกันประดุจลูกโซ่ บุคลิกภาพของมนุษย์ถูกหล่อหลอมด้วยพันธุกรรม การเรียนรู้วิธีปรับตัวของบุคคลและสิ่งแวดล้อม
ต้องพิจารณาว่าอุปนิสัยใจคอของตนเองเป็นเช่นไร ควรได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นความสามารถและลักษณะเฉพาะตัว ทำให้เราเป็นคนมีคุณภาพ ลักษณะบางอย่างเราอาจนึกไม่ถึงเพราะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่อาจเป็นจุดที่ดีและเด่นของเรา การสำรวจตนเอง ให้ถี่ถ้วนจะทำให้เราเลือกแนวทางชีวิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม 

*รูปร่างและลักษณะของร่างกาย สถานศึกษาหลายแห่งกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับรูปร่าง และลักษณะของทางร่างกายไว้ด้วย เช่น สถานศึกษาด้านทหาร ตำรวจ พลศึกษา จะต้องเป็นคนที่มีสุขภาพดี คือ มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง (มีส่วนสูงสัมพันธ์กับน้ำหนัก) มีลักษณะสมชาย และต้องไม่พิการทางสายตาเป็นต้น

*อายุ สถานศึกษาหลายแห่งกำหนดอายุของผู้ที่จะเข้าศึกษาไว้ ซึ่งต้องนำมาประกอบการตัดสินใจ

*เพศ บางสถานศึกษาได้กำหนดเพศเอาไว้ด้วย เพื่อความเหมาะสมและความคล่องตัวในการประกอบอาชีพต่อไป เช่น พยาบาล เป็นต้น

*สัญชาติและเชื้อชาติ สถานศึกษาบางแห่งจะกำหนดว่าผู้เข้าศึกษาต่อยังสถานศึกษานั้น ๆ ต้องมีสัญชาติและเชื้อชาติตามที่สถานศึกษานั้นกำหนด ทั้งนี้ต้องสงวนลิขสิทธิ์ในการประกอบอาชีพบางอาชีพเพื่อคนไทย เช่น อาชีพทหารตำรวจ เป็นต้น

* ทุนทรัพย์ ดูว่าฐานะทางบ้านเป็นอย่างไร พอที่จะส่งเสียให้ศึกษาต่อได้เพียงใด เพราะการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปนั้น บางสาขาวิชาจำเป็นต้องใช้ทุนในการศึกษามาก แต่บางสาขาวิชาอาจใช้เวลาในการศึกษาระยะสั้น ๆ ใช้ทุนในการศึกษาไม่มาก ทั้งนี้แล้วแต่สถานศึกษาหรือสาขาวิชา ที่เลือกเรียน

*เป้าหมายในอนาคต ควรตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าต้องการประกอบอาชีพใด เพื่อจะได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับอาชีพที่นักเรียนสนใจ มีความถนัดและสอดคล้องกับบุคลิกภาพของตน 

*ผู้ปกครอง การที่นักเรียนจะเลือกศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพ ควรขอคำปรึกษาจากบิดา มารดา เสียก่อน เพื่อช่วยชี้แนะแนวทางให้เราตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง




2. ต้องรู้จักสิ่งแวดล้อม 
ต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาที่จะศึกษาต่อว่า ที่ตั้งระยะทางไป-กลับระหว่างที่พักกับสถานศึกษา ระเบียบการ หลักสูตร คุณสมบัติที่ต้องการ สวัสดิการ ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร หรือข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพว่าลักษณะงาน คุณสมบัติที่ต้องมี โอกาสก้าวหน้าในอาชีพ รายได้ สวัสดิการเป็นอย่างไร และอาชีพดังกล่าวในอนาคตอันใกล้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใดคะ





3. เปรียบเทียบข้อมูลของตนเองกับสิ่งแวดล้อม 
เมื่อรู้จักตนเองใดด้านต่าง ๆ รู้จักข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาที่จะศึกษาต่อ หรือข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพแล้ว ให้นำข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองเปรียบเทียบกับข้อมูลสิ่งแวดล้อมว่าเหมาะสมที่จะเลือกศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพใดได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอัตภาพของตน โดยมีการพิจารณาอย่างรอบคอบคะ


Credit ครูสุทธิรักษ์ เสมอกัน  (ครูอ้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น